วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทำไมครูต้องทำวิจัยในชั้นเรียน



ทำไมครูต้องทำวิจัยในชั้นเรียน

     ผู้เขียนขณะเขียนดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา เป็นแห่งที่  3 ได้ศึกษาวิเคราะห์ มองสถานศึกษา  (School  Swot  Anslysis)  พบเห็นจุดอ่อนและอุปสรรคของการพัฒนาการเรียนรู้สู่คุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของ สพฐ. สมศ. และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  คือ  ครูทำวิจัยในชั้นเรียนไม่เป็น มักเกิดคำถามเสมอว่า  ทำไม หรือ จำเป็นเพียงใดที่ครูต้องทำวิจัยในชั้นเรียน จึงเกิดแรงดลใจที่ให้ต้องเขียนบทความทางวิชาการเรื่องนี้ขึ้น
         จากประเด็นข้อสงสัยที่ว่า  ทำไมครูต้องทำวิจัยในชั้นเรียน ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูล
ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบข้อสงสัยดังกล่าวแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดโรงเรียน ดังต่อไปนี้
         สาเหตุที่ครูต้องทำวิจัยในชั้นเรียน มีดังนี้
         1.  เพราะการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการจัด
การเรียนรู้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
         2.  เพราะการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย เป็นแนวทางหนึ่งที่ครูผู้สอนและผู้บริหาร  สามารถนำไปปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี
         3.  เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  แก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ. 2545  ได้ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและได้กำหนดไว้หลายมาตราที่ชี้ให้เห็นว่าการวิจัย เป็นกระบวนการที่ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทำงานของผู้ที่ เกี่ยวข้องกับการศึกษา  ซึ่งเป็นกลไกที่จะนำไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและสังคมแห่งการเรียนรู้
         4.  เพราะ มาตรา 24 (5)  แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  แก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ. 2545  ระบุให้ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  ผู้เรียนสามารถใช้การวิจัยเพื่อศึกษาเรื่องที่น่าสนใจและต้องการหาความรู้ใหม่หรือต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  การวิจัยจึงสัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้  ซึ่งจะช่วยเหลือการฝึกในเรื่องต่อไปนี้
              1) ฝึกกระบวนการคิด
              2) ฝึกกระบวนการจัดการ
              3) ฝึกการหาเหตุผลในการตอบปัญหาหรือแก้ปัญหา
              4) ฝึกให้รู้จักประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
         5.  เพราะ มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  แก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ. 2545  ระบุให้ผู้สอนทำการวิจัย  เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน  ครูผู้สอนนอกจากจะจัดกระบวนการเรียนรู้แล้ว  ยังสามารถใช้การวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการรู้คำตอบ  เพื่อพัฒนาสิ่งที่ต้องการจะพัฒนาหรือแก้ปัญหาและศึกษาหรือพัฒนาสิ่งที่เป็นปัญหา หรือ ต้องการพัฒนาควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง  โดยบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนรู้   และการวิจัยให้เป็นกระบวนการเดียวกัน  สามารถมองเห็นปัญหา ระบุหรือรู้ปัญหาได้  รู้จักการวางแผนการวิจัยการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ  มีหลักฐานการได้มาซึ่งข้อค้นพบและมีเหตุผลอธิบายถึงข้อค้นพบได้
         6.  เพราะ  มาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545  ระบุ ให้สถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกัน คุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่าง ต่อเนื่อง  ผู้บริหารจึงต้องวิจัยเชิงประเมินเกี่ยวกับสถานศึกษา  เพื่อให้ผลการวิจัยนั้นไปประกอบการตัดสินใจ  จัดทำนโยบายและในการพัฒนา  ในขณะเดียวกันผู้บริหารสามารถใช้การวิจัยเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำในการสร้างภูมิปัญญาและการเรียนรู้ได้
         7.  เพราะการวิจัยเป็นกระบวนการค้นหาความรู้และแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้  สามารถนำผลการค้นพบมาแก้ไขการเรียนรู้หรือตัดสินใจพัฒนาการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         8.  เพราะแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม (พ.ศ. 2545-2549)  ได้เน้นย้ำ มุ่งให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้คนไทย
ทุกคน  คิดเป็น  ทำเป็น  มีเหตุผล  สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต รู้จักใช้ข้อมูลอย่างหลากหลาย  เพื่อสร้างสรรค์ความรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งจะให้เกิดคุณลักษณะดังกล่าวได้  ต้อง ฝึกให้รู้จักใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้และกระบวนการที่สร้างความ รู้ได้อย่างเป็นระบบ มีระเบียบ ก็คือการวิจัย ดังนั้นการวิจัยจึงเป็นแนวทางดำเนินการหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่ง ภูมิปัญญาและสังคมแห่งการเรียนรู้
         9.  เพราะเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานที่  9  ของ สมศ. ระบุให้ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้ เรียนเป็นสำคัญ โดยมีตัวบ่งชี้ที่ 7 ให้ครูมีการวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ของผู้เรียนและนำผลที่ได้ไป ใช้พัฒนาผู้เรียน
         10.  เพราะ ผลงานวิจัยที่ครูทำไว้  ซึ่ง ถ้าเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่มาแล้วและผลงานดังกล่าวสามารถนำ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อันเป็นผลงานทางวิชาการประเภทที่ 2  ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  (ก.ค.ศ.) กำหนดไว้ให้ใช้เสนอเพื่อขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้นตามลำดับ  อันเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการของครู
     11.  เพราะ ผลงานวิจัย  หมาย ถึง ผลงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบและมีความมุ่งหมายที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อให้ได้มาซึ่งทฤษฎี หลักการ ปัญหา วิธีการแก้ปัญหา การรับรองหลักการ หรือการพิสูจน์ทฤษฎี  ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ สามารถนำผลงานวิจัยไปพัฒนาหลักการหรือทฤษฏีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา  โดยอาจเป็นการวิจัยในเชิงทดลอง  เชิงสำรวจ หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติการก็ได้  โดยมีลักษณะเป็นเอกสารที่มีรูปแบบของการวิจัยตามหลักวิชา
         จากสาเหตุ ทั้ง  11  ประการ  ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า  ครู  เป็นหัวใจสำคัญยิ่งต่อ
การปฏิรูปการเรียนรู้  การพัฒนาครู  จึงเป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของสถานศึกษาที่ต้องเร่งดำเนินการพัฒนา  โดยเฉพาะในเรื่อง  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน  ดัง นั้นทั้งครูผู้บริหารและนักเรียนจึงต้องมีความตระหนักเห็นความสำคัญและเร่ง พัฒนาตนเองและทั้งคณะให้รู้จัก รู้จริงและรู้แจ้งในเรื่องการวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยเร็ว  อัน จะนำไปสู่การสร้างมนุษย์แห่งคุณภาพสู่สังคมภูมิปัญญาและสังคมการเรียนรู้ต่อ ไปและครูจึงต้องไม่ปฏิเสธการทำวิจัยให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ และผู้บริหารใช้กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการหนึ่งสำหรับการบริหารจัดการ อย่างมืออาชีพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องทำอย่างจริงจัง..

หนังสืออ้างอิง

ศึกษา กระทรวง. เอกสารพัฒนาตนเองชุดการจัดทำข้อมูลสถานศึกษา การวิจัยเพื่อ
            พัฒนาการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพ ฯ : มปพ., 2546
ถวัลย์  มาศจริส. คู่มือการจัดทำผลงานทางวิชาการ. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์อักษร,2550
เจริญ  ยางเสน.  แนวทางการจัดทำผลงานวิชาการ. กรุงเทพ ฯ : มปพ., 2545.
สมศ. รายงานการประเมินคุณภาพภายนอก โรงเรียนพุทโธภาวนาประชาสรรค์ .มปพ. ,
     2547
สมศ.  พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542. กรุงเทพ ฯ  : บริษัทพริกหวานกราฟฟิค,2542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น